การเรียนการสอนดนตรีตามแนวของออร์ฟเป็นที่รู้จักในบ้านเราเมื่อ 34 ปีที่แล้ว (คศ.1975) โดยท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา เป็นผู้นำเข้ามาใช้กับเด็กๆ อบรมคุณครู และเผยแพร่ทางโทรทัศน์
ขณะที่ผู้คิดค้นดนตรีออร์ฟนี้ก็คือ คาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff, ค.ศ.1895-1982) คีตกวีชาวเยอรมัน ผู้ประพันธ์เพลง Carmina Burana อันโด่งดัง คาร์ล ออร์ฟ เล็งเห็นว่าดนตรีนั้นสามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้ เขาจึงสร้างแนวทางการสอนดนตรีที่ใช้สาระด้านดนตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนโดยเฉพาะเด็กๆ
คาร์ล ออร์ฟ เรียกหลักสูตรของเขาว่า ออร์ฟ ชูลแวร์ค (Orff Schulwerk) หรือที่หลายคน เรียกสั้นๆ ว่าดนตรีออร์ฟ เป็นแนวการสอนดนตรีที่ออกแบบมาสำหรับเด็กทุกคนทุกชาติ ทุกภาษา ไม่เฉพาะเจาะจงแต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีเท่านั้น เด็กทุกคน สามารถจะเรียนและเล่นดนตรีได้อย่างสนุกสนานตามความสามารถและความสนใจ
ของแต่ละคน เพราะดนตรีออร์ฟนำธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน นั่นคือ ความรัก และสนุกที่จะกระโดดโลดเต้น ตบมือไปกับจังหวะเพลง มาใช้เป็นบทเรียนเริ่มแรก ของการเรียนการสอนดนตรีสำหรับเด็ก ให้เด็กได้ฟังได้ร้องก่อนที่จะเริ่มการอ่านการเขียน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเรียนภาษาของมนุษย์นั่นเอง

การสอนดนตรีเบื้องต้น (Elemental music) ตามหลักสูตรออร์ฟ ชูลแวร์คประกอบด้วย ดนตรี (Music) การเคลื่อนไหว (Movement) และการพูด (Speech) ที่เด็กจะได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เพราะออร์ฟเชื่อว่า 3 สิ่งนี้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าลองสังเกตการร้องเล่นในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เราจะมองเห็น 3 สิ่งนี้ผสมผสานกันอยู่อย่างกลมกลืน เพราะนี้คือธรรมชาติของเด็ก การพูดคือสิ่งที่เด็กคุ้นเคยและใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนการเคลื่อนไหวก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มนุษย์เราใช้สื่อสาร หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ดังนั้นการพูด การเคลื่อนไหว และดนตรี จึงเป็นสิ่งที่เด็กสามารถจะแสดงออกร่วมกันได้อย่างสอดคล้องกลมเกลียว

วัตถุดิบสำคัญที่ออร์ฟ ชูลแวร์คนำมาใช้ในการเรียนการสอนดนตรีเบื้องต้นสำหรับเด็กเล็กๆ จึงมักจะเป็นบทพูดง่ายๆ และการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติของเด็ก เช่น ชื่อของเด็ก ชื่อของเพื่อน ถ้อยคำที่เด็กคุ้นเคย บทกลอน บทร้องเล่นต่างๆ มาร้องและเล่นร่วมกับการตบมือ ตบตัก การย่ำเท้า การวิ่งกระโดด การหมุน หรือใช้ร่างกายสร้างลีลา เด็กๆ จะทำอย่างสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เพราะเขามีโอกาสคิดสร้างสรรค์วิธีเคลื่อนไหวได้ อย่างอิสระ รวมถึงการใช้กลองและเครื่องเคาะต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดดนตรี ที่สนุกสนานขึ้นได้
ดนตรีออร์ฟนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของจังหวะ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ที่สนุกสนานท้าทายเหมาะสมกับพัฒนาการของช่วงวัย เครื่องดนตรีที่นำมาให้เด็กๆ ใช้ในช่วงแรกเริ่มของการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ จึงเป็นเครื่องดนตรีง่ายๆ

อย่างเครื่องเคาะจังหวะและเครื่องดนตรี ที่ให้ทำนอง เช่น กลอง ระนาดไม้ (Xylophone) และระนาดเหล็ก (Metallophone และ Glockspeils) โดยครูจะถอดโน้ตตัว ฟา และ ที ออกเพื่อให้ระนาดมีโน้ตเพียง 5 ตัว คือ โด เร มี ซอล ลา เป็นกลุ่มตัวโน้ตที่เรียกว่า pentatonic mode ซึ่งจะให้เสียงที่ไพเราะ เมื่อเด็กตีก็จะไม่มีเสียงกระด้างอันเกิดจาก โน้ตตัว ฟา และ ที ทำให้เด็กรู้สึกอย่างอิสระหลากหลายเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจึงค่อยเพิ่มเครื่องดนตรี และการเรียนรู้ที่ยากขึ้นเป็นลำดับ เช่น ขลุ่ยรีคอร์ดเดอร์ หรือพื้นฐานทางทฤษฎีดนตรีที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งเด็กๆ จะเรียนรู้ด้วยทัศนคติที่ดี มีความเชื่อมั่น และการกล้าที่จะแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการเรียนดนตรีแบบออร์ฟ ชูลแวร์ค คือการสร้างให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กับการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในตนเอง ซึ่งโดยทั่วไปดูเหมือนว่าสองเรื่องนี้เป็นคนละขั้วกัน ไม่น่าจะมาอยู่ด้วยกันได้ แต่ในการสอนดนตรีออร์ฟ ทั้งสองเรื่องจะอยู่คู่กันตลอดเวลา และที่สำคัญคือ เด็กเรียนรู้ทั้งสองเรื่องนี้อย่างมีความสุข ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเรียนที่เน้นกิจกรรมกลุ่มและการเล่นรวมวง

การเล่นรวมกันในวงดนตรีเล็กๆ นี้เป็นกระบวนการบ่มเพาะทักษะทางสังคมที่จะช่วยสร้างระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กแต่ละคนจะได้รับมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น เด็กกลุ่มหนึ่งตีระนาด อีกกลุ่มหนึ่งตีกลอง และอีกกลุ่มหนึ่งรับหน้าที่ขับขานบทกลอน เด็กจะเรียนรู้ว่าเขาต้องเล่นตอนไหน และตอนไหนเขาต้องหยุดเพื่อให้เพื่อนเล่น หรือหากแย่งกันตีกลอง ตีระนาด แย่งกันท่อง บทกลอนนั้นก็จะฟังไม่รู้เรื่องและไม่ไพเราะ ด้วยเงื่อนไขที่สร้างขึ้นนี้เอง ที่จะสอนให้เด็กเรียนรู้หน้าที่ของตัวเอง รู้จักฟัง รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น และได้ฝึกทักษะการทำงานภายใต้เงื่อนไขหรือกฎระเบียบ ที่เด็กๆ ทุกคนต่างยอมรับและพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข อย่างเต็มอกเต็มใจและมีความสุข ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็จะได้สร้างสรรค์จังหวะและบทเพลงของตนเองในช่วงของการด้นสด (Improvisation)

การเรียนรู้เช่นนี้จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่ปราศจากการแข่งขัน เด็กๆ เกิดความสนุกสนานจากการได้เล่นดนตรีกับกลุ่มเพื่อน และความพึงพอใจที่ได้ร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนถือเป็นรางวัลที่เด็กๆได้รับจากการเรียนดนตรี ไปพร้อมๆ กับการที่ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการสร้างพื้นฐานที่ดีทั้งทางด้านดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ให้ติดตัวไปอย่างไม่รู้ตัวตามปรัชญาแนวคิดของออร์ฟ ชูลแวร์ค |